วันพฤหัสบดี, 28 มีนาคม 2567

เสวนา “สันติสุขชายแดนใต้ ดอกไม้หลากสี” แนวทางการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ และการมีส่วนร่วมในการพัฒนา

เสวนา “สันติสุขชายแดนใต้ ดอกไม้หลากสี”  โดย คณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร แนวทางการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ และการมีส่วนร่วมในการพัฒนา

วันที่  29 พ.ย.63 เวลา 10.00 น. ณ ห้องน้ำพราวบอลรูม โรงแรมซีเอส ปัตตานี อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี คณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร จัดกิจกรรมเสวนา  เรื่อง สันติสุขชายแดนใต้ ดอกไม้หลากสี เพื่อ เปิดเวทีรับฟังปัญหา แสดงความคิดเห็นในแนวทางการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตลอดจนการมีส่วนร่วมการพัฒนา สร้างความปรองดองสมานฉันท์ เพื่อสร้างสันติสุขและ อธิปไตยในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมี นายสิระ  เจนจาคะ ประธานคณะกรรมาธิการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร เป็นประธาน พร้อมด้วยผู้ทรงคุณวุฒิ, ผู้ว่าราชการจังหวัด, สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้, ผู้นำศาสนา, ผู้นำท้องถิ่น, ผู้นำท้องที่ ตลอดจนพี่น้องประชาชนเข้าร่วมกิจกรรม กว่า 700 คน ทั้งนี้กิจกรรมได้มีการอภิปราย หัวข้อ “การสร้างความสงบร่มเย็น และการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้” ก่อนจะร่วมประเด็น ถาม – ตอบ สะท้อนปัญหาและความเห็นจากผู้ร่วมเสวนา

นายชวลิต  วิชยุสุทธิ์ รองประธานคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน/ประธานอนุกรรมาธิการศึกษาการปฏิรูปทบทวนและแก้ไขปรับปรุงกฎหมายสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า สิ่งสำคัญที่สุดประการแรก คือจะต้องสร้างบรรยากาศที่ดี เพื่อเอื้อต่อการพูดคุยทั้งในส่วนของภาคราชการ และภาคประชาชน การพูดคุยกันจะนำไปสู่ประเด็นปัญหาที่ ได้แนะนำและนำเสนอ ความขัดแย้งขึ้นมามันกินระยะเวลาที่ยาวนานมากแล้ว ก่อขอให้เกิดความเสียหายทางด้านเศรษฐกิจ สังคมการเมืองและอีกหลายด้าน หากปัญหายังไม่คลี่คลายความยากลำบากของพี่น้องประชาชนซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของประเทศไทย เชื่อว่าจะหนักหนาสาหัส ทั้งนี้สิ่งที่เรานำเสนอก็คือประการแรก คือทำอย่างไรการแก้ไขปัญหาในเรื่องของพื้นที่ที่เป็นพื้นที่ความมั่นคง พื้นที่ที่ประกาศเป็นกฎอัยการศึกและพื้นที่ที่ใช้พรก.ฉุกเฉิน เหตุผล เพราะอะไรถึงต้องมี ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร และมีผลกระทบหรือเป็นอุปสรรคต่อการค้าการลงทุนต่อการท่องเที่ยวหรือไม่ ปัจจุบันใช้กำลังทหารหลักในพื้นที่ไม่เพียงพอหรือไม่ รวมถึงความเป็นอยู่ของประชาชนระหว่างไทยพุทธ มุสลิม ซึ่งทุกพื้นที่หากเป็นแบบนี้ ผมคิดว่าความสงบที่เกิดขึ้นจากพี่น้องประชาชนเองจะช่วยคลี่คลายได่แน่นอน นอกจากนี้การสร้างบรรยากาศที่จะทำให้มีคนมาลงทุน มีคนนักท่องเที่ยว สามารถสร้างรายได้และพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนได้ และในวันนี้ เราได้เห็น พี่น้องประชาชนมากเกินความคาดหมายจนล้นห้อง เพื่อที่จะได้ฟังความเห็นของพี่น้องประชาชนแล้วก็นำมาเสนอเป็นรายงานของสภา เสนอต่อสภาทนายความเห็นชอบต่อไป ภารกิจของเราคงจะไม่ได้จบเพียงเท่านี้ เราจะมุ่งมั่นเดินหน้า ร่วมพัฒนาพื้นที่และขับเคลื่อนสร้างสันติสุขในพื้นที่

ด้าน พลตรีปราโมทย์  พรหมอินทร์ ผู้อำนวยการศูนย์ป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า กล่าวว่า ถึงแม้ว่าตอนนี้สถานการณ์ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้จะลดลง แต่ยังไม่สามารถสร้างหลักประกันได้ว่า กลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรง จากยกเลิกความตั้งใจในการก่อเหตุ เพราะจากภาพข่าวการก่อเหตุ และการก่อเหตุความรุนแรงที่ผ่านมา ผู้ก่อเหตุยังคงพยายามก่อเหตุตลอดเวลาที่ผ่านมาเขาคงพยายามที่จะก่อเหตุ อย่างไรก็ตาม พัฒนาการในการแก้ไขปัญหาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ภาครัฐเองก็มีความพยายามปรับตัว และยกเลิกการใช้กฎหมายพิเศษ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในพื้นที่ ฉะนั้นอยากให้ทุกคนได้เข้าใจตรงกันว่า กฎหมายพิเศษไม่ใช่ต้นตอของปัญหา จังหวัดชายแดนภาคใต้ ต้นตอของ ของปัญหา จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่นำไปสู่การใช้ความรุนแรงนั่นก็คือ เกิดจากกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงที่ใช้ ความรุนแรงให้เกิดความสูญเสีย เมื่อมีการสูญเสียโอกาสในการพัฒนาก็ไม่มี นักท่องเที่ยวก็หดหาย จากการเสวนานั้น ทุกฝ่ายได้สะท้อนว่า เพราะมีกฎหมายพิเศษ เศรษฐกิจจึงซบเซา เราให้ทุกคนทำความเข้าใจว่า เพราะอะไรถึงต้องใช้กฎหมายพิเศษ ความจำเป็นและบริบทของแต่พื้นที่ก็ต่างกันรวมถึงโครงสร้างของกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงในแต่ละพื้นที่ต่างกัน ฉะนั้นจำเป็นเราใช้กฎหมายพิเศษเพื่อดูแลพี่น้องประชาชน ซึ่งสุดท้ายแล้วกฎหมายพิเศษก็ไม่ได้เป็นสิ่งชั่วร้าย ทุกคนจะต้องเข้าสู่กระบวนการใช้กฎหมาย ป.วิอาญาทั้งนั้น อย่างไรก็ตามจากภาพรวมของสถานการณ์ ความพร้อมของเจ้าหน้าที่รัฐ ทางรัฐบาลก็ได้มีการทยอยปรับลด การใช้กฎหมายพิเศษในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้โดยลำดับ ขณะนี้เรา ได้มีการยกเลิกการใช้พรกฉุกเฉิน 9 อำเภอ แล้วในอนาคตจะมีการทยอยปรับลดลงไปเรื่อยๆ ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับสถานการณ์และภาพรวมของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น