วันอังคาร, 19 มีนาคม 2567

ปัญหาการแพร่กระจายของ Fake News ในจังหวัดชายแดนภาคใต้และการเสพสื่ออย่างมีสติ

            การเข้ามาของสื่อสังคมออนไลน์ประกอบกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีการสื่อสารและระบบอินเทอร์เน็ตส่งผลให้พฤติกรรมการเสพข่าวสารของประชาชนในยุคปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไป ประชาชนส่วนใหญ่หันมาเสพข้อมูลข่าวสารจากสื่อสังคมออนไลน์มากขึ้น สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาคือการส่งต่อข่าวปลอม (Fake News) เป็นจำนวนมาก ทั้งที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับด้านสุขภาพ ด้านการเมือง ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ด้านความมั่นคงเป็นต้น ก่อให้เกิดผลกระทบเป็นวงกว้างในสังคม เนื่องจากประชาชนผู้บริโภคข้อมูลมีความเชื่อ ทัศนคติ ความเข้าใจและการตระหนักรู้ที่บิดเบือนไป รวมทั้งกรณีที่มีการส่งต่อข้อมูลอันเป็นเท็จให้แพร่กระจายออกไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นด้านการเมืองและด้านความมั่นคง ยังอาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เกี่ยวข้อง สร้างความตื่นตระหนกในสังคม และกระทบต่อความปลอดภัยของประชาชนและความมั่นคงของประเทศ

           ในสถานการณ์จังหวัดชายแดนภาคใต้ในปัจจุบัน กำลังประสบปัญหาการแพร่กระจายของ Fake News จำนวนมาก จากกลุ่มคนผู้ไม่หวังดี มุ่งหวังทำลายความมั่นคง สร้างความแตกแยกในพื้นที่ และทำลายความเชื่อมั่นของประชาชนต่อการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐ ด้วยการนำภาพการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐที่ลงพื้นที่เพื่อช่วยเหลือประชาชน หรือการนำภาพของผู้บังคับบัญชาของ กอ.รมน.ภาค 4 สน. มาเผยแพร่ในสื่อโซเชียล และบิดเบือนข้อเท็จจริงด้วยการบรรยายภาพไปในทิศทางเชิงลบ รวมถึงการบิดเบือนข้อเท็จจริง โจมตีหน่วยงานความมั่นคงว่าใช้อำนาจเกินกฎหมายและละเมิดสิทธิมนุษยชน โจมตีว่าเจ้าหน้าที่ภาครัฐขัดขวางการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ในเรื่องการแต่งกายซึ่งเป็นวัฒนธรรมท้องถิ่น  ซึ่งแท้จริงแล้วเจ้าหน้าที่รัฐในส่วนของ กอ.รมน.ภาค 4 สน. มีความหวังดีและตั้งใจจริงในการแก้ไขปัญหาชายแดนใต้ มีการปฏิบัติงานตามขั้นตอน โดยยึดหลักสิทธิมนุษยชน มีความยุติธรรม โปร่งใสและตรวจสอบได้ รัฐบาลและหน่วยงานความมั่นคง มีความยินดีในการส่งเสริม และให้การสนับสนุนประชาชนทั้งชาวไทยพุทธ ไทยมุสลิม และคนไทยเชื้อสายจีนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้อยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขบนวิถีสังคมพหุวัฒนธรรม มีสิทธิเสรีภาพในการดำเนินชีวิตและแสดงออกความเป็นอัตลักษณ์ของวัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่นตามหลักศาสนา

         เราควรรับข้อมูลข่าวสารจากแหล่งข่าวที่น่าเชื่อถือ เช่น หน่วยงานราชการ หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนั้น ๆ หากมีข้อสงสัยให้สอบถามกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนั้น ๆ ได้เช่นกัน และควรรู้เท่าทัน หลีกเลี่ยง และไม่ตกเป็นเครื่องมือในการเสพและส่งต่อ Fake News  เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบต่อตนเองและสังคมตามมา ผู้ส่งต่อหรือแชร์ข้อมูลอันเป็นเท็จที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงปลอดภัยส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติ อาจจะได้รับโทษทางกฎหมายดังกรณีต่อไปนี้

  • โพสต์ข้อมูลความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงปลอดภัย มีความผิดตามมาตรา 14(2) มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
  • โพสต์ข้อมูลความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง การก่อการร้าย มีความผิดตามมาตรา 14(3)

         อย่างไรก็ตาม เราควรมีการตรวจสอบ Fake News ทุกครั้งที่เราจับมือถือ รู้เท่าทัน Fake News จะช่วยให้เราเตือนตัวเองและคนรอบข้างไม่ให้ตกเป็นเหยื่อ และมีภูมิคุ้มกัน แยกแยะ “ข่าวจริง” กับ “ข่าวปลอม”ได้  เพื่อที่เราจะได้ไม่ตกเป็นเครื่องมือของผู้ไม่หวังดีต่อความมั่นคงของชาติ